อินเดีย กำลังจะเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าจีน

อินเดีย ตามรายงานของสหประชาชาติ มีข้อมูลชุดใหม่ของยูเอ็น คาดว่าจำนวนประชากรอินเดียจะถึงตัวเลขที่ 1,425,775,850 คน ในช่วงปลายเดือน เม.ย. นี่เป็นตัวเลขที่มีการประเมินขึ้นใหม่ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) พยากรณ์ว่า จำนวนประชากรของอินเดียจะแซงหน้าจีนในช่วงกลางปี 2023 โดยจะมีจำนวนประชากรมากกว่าจีนจำนวน 2.9 ล้านคน

อินเดีย แซงหน้าจีนมีปัจจัยอะไรบ้าง

ปัจจัยที่ทำให้อินเดียแซงหน้าจีน มาจากอัตราการการเกิดของประชากรจีนที่ลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อไม่นานมานี้ ในปีที่ผ่านมา ตัวเลขประชากรของจีนลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1961 เป็นต้นมา ซึ่งกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ประชากรจีนอาจลดลงต่ำกว่า 1 พันล้านคน ก่อนสิ้นศตวรรษนี้

“ในขณะเดียวกัน คาดว่าประชากรอินเดียจะเพิ่มจำนวนต่อเนื่องเป็นเวลาหลายทศวรรษ” กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ระบุ

อย่างไรก็ตาม อินเดียก็ประสบปัญหาเรื่องอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงเช่นกัน จากเดิมอัตราการเกิดอยู่ที่ 5.7 ต่อผู้หญิง 1 คน เมื่อปี 1950 ลดลงเหลือ 2.2 ในปัจจุบัน เมื่อเดือน พ.ย. ปี 2022 ประชากรทั่วโลกมีจำนวน 8 พันล้านคน แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า อัตราการเพิ่มจำนวนของประชากรไม่เร็วเท่าในอดีต ซึ่งปัจจุบันประชากรโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าที่สุดตั้งแต่ปี 1950

แล้วคนอินเดียจะล้นประเทศหรือไม่ สุติก บิสวาส ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำอินเดีย ชี้ว่า นับตั้งแต่อินเดียได้รับเอกราชในปี 1947 จำนวนประชากรได้เพิ่มขึ้นมากกว่าพันล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 40 ปี ข้างหน้า อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรนั้นลดลงมาในช่วงหลายทศวรรษ ซึ่งอินเดียเรียกสถานการณ์นี้ว่า “หายนะทางข้อมูลประชากร” ดังนั้น การที่อินเดียมีคนมากขึ้นกว่าจีนนั้น ไม่ได้สร้างให้เกิดความกังวลในเชิงจำนวนประชากรแต่อย่างใด

อินเดีย เมื่อประชากรมีมากกว่าจีนจะสำคัญอย่างไร

ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำอินเดีย วิเคราะห์ด้วยว่า การที่ประชากรอินเดียแซงหน้าจีนนั้นอาจมี “ความสำคัญ” บนเวทีระหว่างประเทศ เขายกตัวอย่างว่า อินเดียอาจใช้เรื่องของจำนวนประชากรเป็นข้ออ้างในการขอสิทธิการมีที่นั่งเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

อินเดีย เป็นหนึ่งในชาติร่วมก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ และยืนยันการอ้างถึงสิทธิการเป็นสมาชิกถาวรในยูเอ็นมาโดยตลอด ด้านสถาบันประชากรศาสตร์นานาชาติในนครมุมไบ ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบประชากรอินเดียนั้นมีความสำคัญยิ่ง แม้ว่าจะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์บางส่วน อินเดียควรได้รับเสียงชื่นชมในเรื่องการจัดการสุขภาพของประชากร ด้วยการพัฒนาการวางแผนครอบครัวด้วยหลักประชาธิปไตย แม้ว่าประชาส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการศึกษาและยากจน

สัดส่วนเด็กเกิดใหม่เพศชายต่อหญิงในอินเดีย กำลังเข้าใกล้กันมากขึ้น ?

คำถามที่ว่าสัดส่วนเด็กเกิดใหม่เพศชายและเด็กหญิงในอินเดียซึ่งผิดเพี้ยน ส่งผลให้ที่ผ่านมาอินเดียมีจำนวนเด็กชายเกิดมากกว่าเด็กหญิง แต่ปัจจุบันสถานการณ์กำลังดีขึ้นไหม คำตอบ คือ ใช่ หากพิจารณาจากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ในสหรัฐฯ ที่พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงในชุมชนชาวซิกข์

สถาบันวิจัยที่ไม่แสวงหากำไรแห่งนี้ ได้ศึกษาข้อมูลจากการสำรวจสุขภาพครอบครัวแห่งชาติ (National Family Health Survey หรือ NFHS-5) ครั้งล่าสุดของอินเดีย ซึ่งเป็นการสำรวจข้อบ่งชี้ด้านสังคมและสุขภาพของครัวเรือนที่ครอบคลุมที่สุดของรัฐบาลอินเดีย จัดทำขึ้นระหว่างปี 2019-2021 โดยมุ่งเน้นเป็นพิเศษในเรื่องการแก้ไขความไม่สมดุลทางเพศภายในกลุ่มศาสนาหลักๆ ของอินเดีย

ผลการศึกษาระบุว่า อัตราส่วนเพศเมื่อแรกเกิด (sex ratio at birth—SRB) ดีขึ้นในหมู่ผู้นับถือศาสนาฮินดู, อิสสาม, และคริสต์ แต่ที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดมาจากผู้นับถือศาสนาซิกข์ ซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่มีความไม่สมดุลทางเพศมากที่สุดก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ให้ระมัดระวังการตีความข้อมูลนี้ เพราะการสำรวจนี้ครอบคลุมครัวเรือนของอินเดียเพียง 630,000 ครัวเรือน จาก 300 ล้านครัวเรือน

ซาบู จอร์จ นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า “จะเห็นภาพที่แท้จริงก็ต่อเมื่อมีการสำรวจสำมะโนประชากรที่มีการนับประชากรทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งจะให้ข้อมูลที่แม่นยำมากกว่า”

อินเดีย

การชื่นชอบลูกชายมากกว่าลูกสาว นำไปสู่อัตราส่วนทางเพศที่ผิดเพี้ยน และทำให้อินเดียมีจำนวนประชากรชายมากกว่าหญิง

เรื่องนี้มีรากเหง้ามาจากความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ยึดถือกันอย่างกว้างขวางว่า ลูกชายเป็นผู้สืบทอดนามสกุลของตระกูล คอยดูแลพ่อแม่ในวัยแก่ชรา และปฏิบัติพิธีกรรมเมื่อพ่อแม่เสียชีวิต ส่วนลูกสาวนั้นมีแต่ทำให้พ่อแม่ต้องเสียค่าสินสอดทองหมั้นและต้องทิ้งพวกเขาไปอยู่บ้านของฝ่ายชายหลังจากแต่งงาน

อคติที่มีต่อลูกสาวเช่นนี้ ประกอบกับการสามารถตรวจสอบเพศลูกก่อนคลอดได้อย่างง่ายดายตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1970 ทำให้มีการทำลายตัวอ่อนทารกเพศหญิงหลายสิบล้านคนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แม้รัฐบาลจะห้ามการตรวจเพื่อเลือกเพศของลูกตั้งแต่ปี 1994 แต่นักเคลื่อนไหวระบุว่า ก็ยังมีการทำกันอยู่อย่างแพร่หลาย อมาตยา เซน เจ้าของรางวัลโนเบลเรียกอินเดียว่า เป็น “ประเทศแห่งการสูญหายของสตรี” และสหประชาชาติประเมินว่า ผลจากการเลือกเพศลูกอย่างมีอคติส่งผลให้มีจำนวนทารกเพศหญิงแรกเกิดที่สูญหายไปเกือบ 400,000 คนในแต่ละปี

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ถ้าไม่มีการเลือกเพศลูกแล้วละก็ การเกิดของทารกเพศหญิงทุกๆ 100 คน จะมีทารกเพศชายเกิด 105 คน แต่จำนวนทารกเพศหญิงในอินเดียมีสัดส่วนน้อยกว่านี้มานานหลายสิบปีแล้ว

จากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2011 ของอินเดีย พบว่ามีเด็กชาย 111 คน ต่อเด็กหญิง 100 คน ตัวเลขนี้ดีขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 109 ในการสำรวจสุขภาพครอบครัวแห่งชาติประจำปี 2015-2016 และปัจจุบันนี้อยู่ที่ 108

ศูนย์วิจัยพิวระบุว่า ข้อมูลใหม่นี้บ่งชี้ว่าการชื่นชอบเด็กชายมากกว่าหญิงเริ่มลดน้อยลง และการเลือกเพศของลูกก่อนคลอดลดลงด้วย และการเปลี่ยนแปลงที่มากที่สุดเกิดขึ้นในกลุ่มชาวซิกข์ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีอยู่ไม่ถึง 2% ของประชากรอินเดีย แต่ทารกเพศหญิงในอินเดียที่ “สูญหายไป” ราว 440,000 คน จากจำนวน 9 ล้านคน ระหว่างปี 2000-2019 หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% มาจากชุมชนชาวซิกข์

ชาวซิกข์เป็นกลุ่มที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดในบรรดาศาสนาหลักๆ ของอินเดีย พวกเขาคือคนกลุ่มแรกในอินเดียที่ใช้การตรวจสอบเพื่อกำหนดเพศของลูกอย่างกว้างขวาง เพื่อที่จะทำแท้งตัวอ่อนหากพบว่า เป็นทารกเพศหญิง กลุ่มชาวซิกข์ เคยมีอัตราส่วนเพศสูงสุดที่ 130 ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 110 ซึ่งเข้าใกล้กับค่าเฉลี่ยทั่วประเทศซึ่งอยู่ที่ 108 มากขึ้น

“เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลพยายามมานานหลายปีให้คนเลือกเพศลูกน้อยลง รวมถึงห้ามการตรวจหาเพศก่อนคลอด และการรณรงค์ขนานใหญ่ให้พ่อแม่ ‘เก็บลูกสาวไว้’ และในขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสังคมอย่าง การศึกษาและฐานะของผู้คนที่ดีขึ้น” ผลการศึกษาดังกล่าวระบุ

NFHS-5 มีขึ้นในช่วงที่อินเดียกำลังจัดการกับปัญหาการระบาดใหญ่ของโควิด

ซาบู จอร์จ นักวิจัยและนักเคลื่อนไหว ยังกังขาในเรื่องที่ว่าอัตราส่วนเพศเมื่อแรกเกิดของอินเดียเริ่มปรับตัวสู่ปกติแล้ว “การลดลง 1 แต้มจากการสำรวจสุขภาพครอบครัวแห่งชาติครั้งที่ 4 (NFHS-4) มาถึงครั้งที่ 5 (NFHS-5) เป็นการพัฒนาขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การเรียกมันว่า เป็นการกลับมาสู่ภาวะปกติเป็นการพูดเกินจริง และบิดเบือน” เขากล่าว

“โควิดทำให้คนเสียชีวิต 4 ล้านคน ระบบสาธารณสุขล้มเหลวและบริการด้านสุขภาพอีกหลายอย่างรวมถึงบริการทำคลอด ได้รับผลกระทบไปทั่วประเทศ” เขากล่าว และระบุเพิ่มเติมว่า การรวบรวมข้อมูลในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะในบางรัฐที่มีประชากรจำนวนมากและมีขนาดใหญ่ ไม่ค่อยถูกต้องแม่นยำ เขาเห็นด้วยว่า มีการทำแท้งทารกเพศหญิงลดลงในรัฐปัญจาบและรัฐหรยาณา ซึ่งผู้นับถือศาสนาซิกข์ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อามิต กุมาร นักวิจัยด้านเพศในปัญจาบ กล่าวว่า แม้ว่าจะลดจำนวนลง แต่เขาพบว่า แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติในพื้นที่นี้ “ผมไม่พบความแตกต่างใดๆ ในการพูดถึงเรื่องนี้ในปัจจุบันจากสิ่งที่ผมพบในหนังสือต่างๆ เมื่อ 100 ปีก่อน องค์ประกอบของโครงสร้างของสังคมที่ชายเป็นใหญ่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อย่างที่คุณเห็นว่ายังคงมีการปฏิบัติเช่นเดิมอยู่ มีทัศนคติเหมือนเดิม แต่พวกเขาปรับตัวและดูเหมือนว่าจะแตกต่างไปในพื้นที่ มันคือเหล้าเก่าในขวดใหม่” เขากล่าว

นักศึกษาปริญญาเอกด้านการศึกษาความเป็นชาย ซึ่งเคยทำการสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อนในพื้นที่ชนบทของรัฐปัญจาบ ระบุว่า เมื่อ 2 ปีก่อน เขาได้พบกับชาวบ้านวัย 28 ปี คนหนึ่ง ที่บอกว่าจะฆ่าลูกสาวของตัวเอง ถ้าภรรยาคลอดทารกหญิงออกมา “ในรัฐปัญจาบ มองกันว่าเด็กหญิงเป็นภาระ เป็นความเสียเปรียบ และเป็นเรื่องที่ยอมรับกันอย่างปกติตามวัฒนธรรมที่ผู้คนพากันไปขอพรให้ได้ลูกชายที่คุรุทวารา (วัดซิกข์) และศาลต่างๆ”

เขากล่าวว่า ถ้าคุณถามคำถามตรงๆ กับผู้คน พวกเขาจะปฏิเสธว่า ไม่ได้เลือกปฏิบัติระหว่างลูกชายและลูกสาว แต่ถ้าคุณตรวจสอบลึกลงไป คุณจะพบว่ายังคงมีการชื่นชอบลูกชายมากกว่า คนส่วนใหญ่บอกว่า การมีลูกชายเป็นเรื่องจำเป็น เพราะลูกชายต้องปฏิบัติพิธีกรรมหลังจากที่พวกเขาเสียชีวิตไปแล้ว”

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นายกุมาร กล่าวว่า มีการรณรงค์และโฆษณาที่เตือนคนไม่ให้เข้ารับการตรวจเพื่อกำหนดเพศของลูกอย่างผิดกฎหมาย และทำให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในหมู่ประชาชน “ดังนั้นการตรวจเพื่อกำหนดเพศและการทำแท้งจึงลดลงเล็กน้อย แต่แค่เล็กน้อยเท่านั้น และทุกคนรู้ว่า จะไปปรึกษาคลินิกแห่งไหน ถ้าพวกเขาต้องการทำแท้งตัวอ่อนทารกเพศหญิง”

เขากล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ ถ้าคุณพิจารณาข้อมูลอาชญากรรมของทางการ มันเผยให้เห็นถึง “การแท้งลูกและการทิ้งลูกสาว” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งอาจหมายความว่าลูกสาวถูกทอดทิ้งหลังคลอด “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเท่านั้นที่จะสามารถหยุดยั้งการทอดทิ้งลูกสาวได้ แต่นั่นคือกระบวนการระยะยาว” นายกุมาร กล่าว “มันต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ซึ่งก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า”

สัดส่วนจำนวนประชากรในภูมิภาคเอเชีย มีจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรโลก มานานกว่า 70 ปี “จีนกำลังจะลงจากตำแหน่งประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกเร็วๆ นี้” สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ระบุในแถลงการณ์ พร้อมบอกว่า ด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนของการประมาณการณ์จำนวนประชากร ทำให้ต้องมีการทบทวนการระบุวันที่เฉพาะเจาะจงว่า ประชากรอินเดียจะแซงหน้าจีนในวันใด

ที่มา

https://www.bbc.com/thai/articles/c3gp8yyddw7o

https://www.bbc.com/thai/international-62659263

https://pixabay.com/th/photos/6257329/

https://pixabay.com/th/photos/282933/

 

ติดตามอ่านข่าวรอบโลกได้ที่  annapolisholidayhomes.com